- ลงทุนหุ้นอเมริกา
- Posts
- 【【 EXCLUSIVE 】】JPEQ เกษียณไม่ได้!? ราคากองทุนจะร่วงเรื่อยๆในระยะยาว!?
【【 EXCLUSIVE 】】JPEQ เกษียณไม่ได้!? ราคากองทุนจะร่วงเรื่อยๆในระยะยาว!?
ได้รับขอความจากเพื่อนๆสมาชิกหลายคน สอบถามเรื่องราคาหน่วยของกองทุน (NAV) ของ JEPQ มีโอกาสร่วงลงเรื่อยๆในระยะยาวหรือไม่? จะเป็นเหมือนกลุ่มกอง YieldMax ? หรือแม้แต่ที่อิง Nasdaq-100 เหมือนกันอย่าง QYLD ที่เข้าตลาดมานานมากแล้ว และแสดงให้เห็นแล้วว่า ราคากองทุนก็ร่วงเรื่อยๆในระยะยาวจริง! ดังนั้น JEPQ ที่อิงกับ Nasdaq-100 ก็มีโอกาสเป็นเดียวกันหรือเปล่า..!?
จริงๆแล้ว…กอง JEPQ มีความแตกต่างอยู่ครับ
1. ขาย "ประกันราคาหุ้น" แบบฉลาดกว่า เปิดช่องให้ราคาโตได้บ้าง
ออกแบบมาให้ราคาเติบโตได้: JEPQ ขาย "สิทธิ์" หรือ "ประกัน" ให้คนอื่นมาซื้อหุ้นได้ในอนาคตก็จริง แต่! เขาตั้งราคาขาย (Strike Price) ให้สูงกว่าราคาตลาด ณ วันที่ขาย เฉลี่ยประมาณ 2.5% เรียกว่า Out-of-the-Money หรือ OTM อ้างอิงจากสำนักดัง อย่าง "Morningstar" Link
มันดีตรงไหน? ดีตรงที่เหมือนมี "กันชน" คือ ถ้าหุ้นใน Nasdaq ที่ JEPQ ถืออยู่ ราคาขึ้นไปไม่เกิน 2.5% ในเดือนนั้น JEPQ จะได้ประโยชน์สองต่อ คือ…
ได้กำไรจากราคาหุ้น: มูลค่าหุ้นจริงๆ ที่กองทุนถืออยู่มันเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาต่อหน่วยกองทุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ได้เงินค่าประกันฟรี: ได้เงินค่าขายสิทธิ์นั้นมาเต็มๆ เป็นรายได้เสริม
ถ้าราคา Nasdaq ขึ้นเกิน 2.5% ราคาหน่วยของทุนของ JPEQ ก็จะโตได้จำกัด ผลตอบแทนส่วนเกินนี้จะหายไป แต่อันนี้เราก็ต้องเข้าใจว่า JPEQ ไม่ได้ต้องการไปแข่งด้านราคาเติบโตกับ Nasdaq อยู่แล้ว ขอแค่มีการเติบโตบ้างเท่านั้น
แต่สิ่งนี้ถือเป็น ความแตกต่างเชิงกลยุทธ์ที่ สำคัญที่สุด ที่ส่งผลต่อแนวโน้มการรักษาราคาหน่วยกองทุน
มาเทียบกับ QYLD: กองนี้อิง Nasdaq-100 เหมือนกัน แต่! ใช้กลยุทธ์ต่างกัน! QYLD เขาออกแบบมาให้ขายสิทธิ์ที่ราคาตลาดพอดีเป๊ะๆ อันนี้จะเรียกว่า At-the-Money หรือ ATM ซึ่งพอดัชนีขยับขึ้น QYLD ก็แทบจะไม่ได้ประโยชน์จากราคาหุ้นที่ขึ้นเลย เพราะเหมือนโดนบังคับขายที่ราคาเดิม ได้แค่ค่าประกันอย่างเดียว นี่คือจุดตายที่ทำให้ราคากองทุนของ QYLD มักจะลดลงเมื่อตลาดเป็นขาขึ้น

เทียบ 5 ปี เฉพาะราคากับ QQQ ที่เป็นกองทุนอิง Nasdaq โดยตรง จะเห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนเรื่องการเติบโตของราคาหน่วยกองทุน
เปรียบเทียบให้เห็นภาพ: JEPQ ขายกับผู้ซื้อว่า "คุณจองซื้อบ้านผมได้นะ แต่ต้องซื้อแพงกว่าราคาประเมินวันนี้ 2.5%" ถ้าปีหน้าราคาบ้านขึ้น 1% เราก็ได้กำไรจากราคาบ้านที่ขึ้น 1% นั้น และ ได้เงินค่าจอง (ค่าประกัน) มาด้วย แต่ QYLD ขายว่า "คุณจองซื้อได้เลยที่ราคาประเมินวันนี้" ถ้าปีหน้าราคาบ้านขึ้น เราอดได้ส่วนต่าง ได้แค่ค่าจองอย่างเดียว ซึ่งด้วยวิธีนี้ JEPQ เลยยังสามารถเก็บเกี่ยวการเติบโตได้บ้าง ต่างจาก QYLD

จะเห็นชัดว่า ด้านราคาหน่วยกองทุน JPEQ จะโตและทนทานกว่า QYLD แต่เราไม่สามารถไปเทียบการเติบโตขาขึ้นแรงๆกับ QQQ ได้เลย

ถ้าเรารวมทบต้นปันผลรายเดือนเข้าไปด้วย ผลตอบแทนรวม JPEQ ไปเทียบกับ QQQ ก็ไม่ได้แย่ แม้เราจะไม่ได้ต้องการไปวัดการเติบโตโดยตรงก็ตาม เพราะเราเป็นกองกระแสเงินสดรายเดือน แต่ที่สำคัญ คือ JPEQ ดีกว่า QYLD ที่ห่างจาก QQQ พอสมควร
2. ใช้เครื่องมือการเงินพิเศษ "ELNs" เสริมความแข็งแกร่ง
JEPQ ไม่ได้เอาเงินทั้งหมด 100% ไปซื้อหุ้นแล้วขายประกันทับ แต่แบ่งเงินส่วนหนึ่งประมาณ 15-20% ไปลงทุนในสิ่งที่เรียกว่า ELNs (Equity-Linked Notes)
ELNs คืออะไร: พูดง่ายๆก็คือ "การลงทุนแบบผสมผสาน" ที่รวมเอา 2 อย่างไว้ด้วยกัน:
ส่วนที่คล้ายเงินฝาก/พันธบัตร: มีเป้าหมายเพื่อปกป้องเงินต้น ทำให้เงินลงทุนค่อนข้างปลอดภัย ลดความเสี่ยงเวลาตลาดตกหนัก
ส่วนที่ให้ผลตอบแทนอิงตลาดหุ้น: ให้โบนัสหรือดอกเบี้ยพิเศษถ้าดัชนี Nasdaq ทำผลงานได้ดี ซึ่งส่วนนี้แหละที่ JEPQ ใช้สร้างรายได้จากการขายออปชัน
ช่วย JEPQ ยังไง?
ลดความผันผวน: เพราะมีส่วนที่ปลอดภัยคล้ายพันธบัตรอยู่ แค่คำว่าพันธบัตรก็อุ่นใจอยู่แล้ว เพราะมันคือสินทรัพย์ที่ค่อนข้างปลอดภัย ทำให้เวลาหุ้นตก ราคาของ JEPQ ก็จะไม่ได้ตกตามหุ้นไปทั้งหมด 100% ก็มีส่วนนี้ ที่ช่วยพยุงไว้บ้าง
สร้างรายได้สม่ำเสมอ: โครงสร้างของ ELNs มักจะจ่ายผลตอบแทนจากส่วนออปชันเป็นรายเดือน ทำให้ JEPQ สามารถสร้างกระแสเงินสดเข้ามาเรื่อยๆได้ แล้วก็นำมาจ่ายเป็นปันผลให้กับนักลงทุน บางกองทุนที่จ่ายปันผลรายเดือนสูงๆ ไม่ได้มีกลยุทธ์ปกป้องเงินต้น เวลาที่ไม่สามารถหากำไรจ่ายได้ทัน ก็จะนำเงินต้นของนักลงทุนเองจากในกองทุน มาจ่ายให้แทน ซึ่งก็เลยทำให้ราคาหน่วยกองทุนลดลงเรื่อยๆ อย่างที่เราเห็นจากกลุ่มกอง YieldMax เป็นต้น
3. ไม่ได้ซื้อมั่ว มี "ผู้เชี่ยวชาญ + ระบบ" คอยจัดการให้
กองทุนอย่าง QYLD มักจะซื้อหุ้นตามดัชนี Nasdaq-100 เกือบทั้งหมดแบบตรงไปตรงมา แต่ JEPQ มีความเป็น การบริหารจัดการแบบเชิงรุก (Actively Managed) มากกว่า หรือจัดการด้วยระบบตัวเอง เน้นลดความผันผวนด้วย
ขั้นตอน? ทีมผู้จัดการกองทุนนี้ เป็นถึงระดับผู้บริหารของบริษัทลูก J.P. Morgan ลงมาดูแลเอง ดังนั้นจึงเป็นทีมที่มีประสบการณ์สูงมาก และยังใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง Data Science ที่พัฒนามานานหลายสิบปี มาช่วยคัดเลือกอีกที จะลงทุนในหุ้นตัวไหน ให้สัดส่วนแต่ละตัวเท่าไหร่?
เลือกจากอะไร? โมเดล Data Science นี่แหล่ะ ที่ช่วยได้เยอะมาก! นี่คือโมเดลที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลกว่า 40 ปี เพื่อเฟ้นหาหุ้นที่มี Fundamental หรือพื้นฐานหุ้นที่แข็งแกร่ง ความผันผวน/ค่า Beta ต่ำกว่าNasdaq-100 มีโอกาสเติบโต มีแนวโน้มอุตสาหกรรมดี คือจะเป็นหุ้นที่ "น่าจะดีกว่าค่าเฉลี่ย" และ "เสี่ยงน้อยกว่า" ตัวอย่างเช่น ปรับหุ้น Marvell เข้ามา เพราะอนาคตดี เพราะธุรกิจ Data Center โตแรง อาจจะเพิ่มน้ำหนักลงทุน แต่ถ้าเห็นว่า Tesla เริ่มเจอคู่แข่งเยอะ อาจจะลดน้ำหนักลงหน่อย เป็นการจัดการแบบ Active ตามสถานการณ์จริงแบบนี้เลย
เป้าหมาย? เราอิง Nasdaq-100 แต่เราจะไม่ได้ตาม 100% เต็ม แต่พยายามปรับเองด้วย เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ดีขึ้นอีกนิดหน่อย หรือลดความเสี่ยงลง แต่ก็ยังคงให้ผลตอบแทนโดยรวมอิงกับทิศทางของ Nasdaq อยู่เหมือนเดิม
4. กระจายความเสี่ยง ทยอยขาย"ประกัน"ทุกสัปดาห์ ไม่เทหมดหน้าตัก
ถือเป็นกลยุทธ์ที่ฉลาดของ JEPQ แทนที่จะขาย "สิทธิ์" หรือ "ประกัน" ทั้งหมดสำหรับทั้งเดือนในครั้งเดียว แต่กลับซอยย่อยเป็นการขายทีละส่วนแทนในทุกสัปดาห์!
ลดความเสี่ยงเรื่องจังหวะเวลา: การขายออปชันเดือนละครั้ง มีความเสี่ยงว่าถ้าเราขายไปแล้ว "ผิดจังหวะ" เช่น ขายปุ๊บ ตลาดพุ่งแรง หรือ ตลาดดิ่งเหว เราอาจจะเสียโอกาส หรือเจ็บตัวหนักกว่าเดิมไปตลอดทั้งเดือนนั้น
เพิ่มความยืดหยุ่น: การขายรายสัปดาห์ช่วยให้ JEPQ สามารถปรับราคาขายให้เข้ากับสภาพตลาดล่าสุดได้บ่อยขึ้น ถ้าตลาดกำลังแรง ก็อาจจะตั้งราคาสูงขึ้นหน่อย ถ้าตลาดดูซึมๆ ก็อาจจะปรับลงมาเพื่อเก็บค่าประกันได้ง่ายขึ้น
รายได้สม่ำเสมอ: ก็เหมือนทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตทีละน้อยๆ แทนที่จะรอเก็บเกี่ยวครั้งเดียว ทำให้รายรับจากค่าประกันมีความสม่ำเสมอมากขึ้น ลดการเหวี่ยงขึ้นลงแรงๆ
5. ได้อานิสงส์จากหุ้น Nasdaq ที่โตเอง
ข้อนี้สำคัญที่สุดและเป็นพื้นฐานเลย คือ JEPQ ลงทุนใน "หุ้นจริงๆ" ของบริษัทในดัชนี Nasdaq-100 เป็นสัดส่วนที่ใหญ่มาก (ประมาณ 80% ของกองทุน)
แกนหลักสำคัญ: กลยุทธ์การขายประกัน (ข้อ 1) หรือการใช้ ELNs (ข้อ 2) เป็นเหมือนการเสริมเกราะป้องกัน แต่เนื้อแท้ของการลงทุนส่วนใหญ่ยังอยู่ที่หุ้นเทคโนโลยีชั้นนำ
เมื่อหุ้นหลักขึ้น JEPQ ก็ขึ้นตาม: ตราบใดที่บริษัทอย่าง Apple, Microsoft, Nvidia, Amazon ฯลฯ ยังคงเติบโตได้ในระยะยาว มูลค่าหุ้นเหล่านี้ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงให้ NAV ของ JEPQ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แม้จะมีการขายประกันดักการเติบโตบางส่วนไว้ก็ตาม ในภาพที่ 2 ด้านบน ช่วงตลาดขาขึ้น เราจะเห็นการปรับตัวขึ้นที่ดีกว่าของ QYLD ชัดเจน เพราะกลยุทธ์เราต้องการให้ราคาเติบโตด้วย
ปันผลจากหุ้น: อย่าลืมว่าหุ้นหลายตัวใน Nasdaq ก็จ่ายเงินปันผลด้วยนะ เงินปันผลส่วนนี้ก็เข้ามาช่วยเพิ่มผลตอบแทนรวมให้กับ JEPQ อีกทางหนึ่ง
★𝓐𝓓𝓜𝓘𝓝★ :
นักลงทุนฝรั่งเขาชอบเรียกว่า "NAV Erosion" หรือ การที่มูลค่าหน่วยลงทุนจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆในระยะยาว ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากในกองทุนประเภท Covered Call
กองทุนพวกนี้มักจะเน้นดึงดูดนักลงทุนด้วยการจ่ายเงินปันผลสูงๆแถมจ่ายเป็นรายเดือน หรือบางทีรายสัปดาห์ก็มี!? แต่ปัญหาคือ… ถ้าออกแบบมาไม่ดี งานเข้าแน่นอน! เพราะตลาดมันผันผวน มันคาดเดาไม่ได้ 100% ถ้าเชิงรุกอย่างเดียว ไม่มีเชิงป้องกันเลย มีโอกาสที่จะหาเงินมาจ่ายนักลงทุนไม่ทัน นึกภาพแล้วก็เหมือนพวกคดีดังๆเหมือนกันนะ หลอกลงทุน สุดท้ายเอาเงินต้นของอีกคนมาจ่ายแทน ในกรณีนี้ มูลค่าหน่วยลงทุนมันจะค่อยๆลดลงไปเรื่อยๆ ทำให้เงินต้นเราหายไป เราเอาเงิน 100 บาทไปลงทุน แล้วได้ปันผลสูงถึง 10 บาทต่อปี แต่พอผ่านไป 5-10 ปี เงินต้นเราเหลือแค่ 50 บาท แบบนี้มันก็ดูไม่คุ้มนะ
แต่ JEPQ ที่ Backup เป็น JP Morgan ธนาคารอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ที่มีทั้งความรู้และเครือข่ายการลงทุนเยอะ เขาออกแบบมาพิเศษเพื่อป้องกันปัญหานี้ด้วย ผ่านกลยุทธ์ 3 ชั้น คือ
คัดเลือกหุ้นศักยภาพสูงจาก Nasdaq 100 โดยใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังถึง 40 ปี
ขาย call options แบบ OTM พร้อมกระจายวันหมดอายุเป็นรายสัปดาห์ ลดแรงกระแทกจากตลาด
ใช้ระบบ ELN โครงสร้างตราสารอนุพันธ์กับสถาบันการเงินใหญ่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงด้านภาษีและความเสี่ยงจากคู่สัญญา
ที่สำคัญคือทีมบริหารของ JEPQ คือทีม Avengers รวมลูกหม้อประสบการณ์สูงของ JP Morgan นำโดยคุณ Hamilton Reiner ที่มีประสบการณ์ตั้ง 38 ปี เป็นหนึ่งในผู้บริหารของ JPMorgan Asset Management (JPMAM) บริษัทลูกที่ทำธุรกิจด้านจัดการกองทุนของ JPMorgan Chase & Co.
เคยทำคลิปไว้ครับ ดูได้ที่นี่ นาทีที่ 19:12 ครับ LINK
ทีมนี้เขาบริหารแบบยืดหยุ่นมาก โดยประเมินสภานการณ์ตลาดอยู่ตลอด ถ้าตลาดกำลังขาขึ้น เขาก็จะขาย Options น้อยลง ประมาณ 25% เพื่อให้ NAV มีโอกาสเติบโตไปกับตลาด แต่ถ้าตลาดกำลังขาลงหรือผันผวน เขาก็จะขาย Options เพิ่มขึ้นเป็น 75% เพื่อเก็บค่าพรีเมียมที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้กองทุนปรับตัวได้ไม่ว่าตลาดจะเป็นยังไง ลองเทียบกับ QYLD ซึ่งเป็นกองทุน Covered Call ดั้งเดิม ที่ตอนนี้ NAV ลดลงไปกว่า 30% ใน 10 ปีที่ผ่านมา ส่วน JEPQ ตั้งแต่เปิดกองในปี 2022 ยังรักษา NAV ได้ดี เพราออกแบบ Options ที่ไม่กดดันมากเกินไป

คุณ Hamilton กล่าวว่า "เป้าหมาย คือการทำให้ผู้ลงทุนรู้สึกเหมือนว่าพอร์ตนี้เป็น เหมือนดัชนี Nasdaq-100 ในขณะที่พยายามถือครองหุ้นที่มีความเสี่ยงด้านลบ (left-tail risk) น้อยกว่า"
"กฎการทำกำไร ใครๆก็รู้ว่าคือซื้อหุ้นแล้วรอให้มันขึ้นเยอะๆ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ต้องรู้วิธีที่จะไม่ขาดทุนหนักด้วย โดยเฉพาะเวลาที่ตลาดดูไม่ดี การรู้จักป้องกันความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญมาก"
"เป้าหมายคือการสร้างพอร์ตลงทุนที่ทำให้เรารู้สึก สบายใจที่จะถือต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่ว่าตลาดจะเป็นยังไง ไม่ต้องรู้สึกว่า 'ต้องรีบขายหนี' เพราะการที่เราสามารถลงทุนและถือต่อไปได้นานๆ นี่แหละคือหัวใจสำคัญของการสร้างความมั่งคั่ง กลยุทธ์อย่างการขาย Call Options (ที่ JEPQ ใช้) ก็เข้ามาช่วยตรงนี้ เพราะมันถูกออกแบบมาให้ ผันผวนน้อยกว่าตลาดโดยรวม มันเหมือนเป็นเครื่องมือช่วยให้นักลงทุนอย่างเราๆ จัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น ช่วยให้เรากล้าที่จะลงทุนต่อไป แม้ในช่วงที่ตลาดดูน่ากลัว ก็ยังมั่นใจที่จะถือต่อได้ การสร้างพอร์ตที่ทำให้เราไม่ต้องถอนตัวออกไปกลางคันนี่แหละ คือวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เงินเราเติบโตทบต้นไปเรื่อยๆ ในระยะยาว"
"พอร์ต JEPQ จะคล้ายๆกับดัชนี Nasdaq-100 แต่จะพยายามเลือกหุ้นที่ น่าจะเจ็บตัวน้อยกว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น (ลดความเสี่ยงขาลงหนักๆ) เป้าหมายของกองทุนนี้ คือ การสร้างรายได้ประมาณ 9-11% ต่อปี โดยที่ ความผันผวนหรือความเสี่ยงโดยรวมจะน้อยกว่าดัชนี Nasdaq-100 ประมาณ 25% เป็นการพยายามหาจุดสมดุลระหว่างการสร้างผลตอบแทนรวมและการจ่ายรายได้สม่ำเสมอ โดยอิงกับหุ้นในกลุ่ม Nasdaq"
ผมคิดว่าไม่มีอะไรจะอ้างอิงได้ดีไปกว่าคนที่เป็นเหมือน CEO กองทุนนี้แล้วครับ ถ้าจะฟังเต็มๆก็ที่ LINK
ก็คือไม่ได้บอกโดยตรงเรื่อง NAV แต่พูดประมาณนี้ก็น่าจะพอเห็นเหมือนกันว่า บอสใหญ่ ให้ความสำคัญกับราคา NAV ด้วย
ย้ำอีกที กลยุทธ์ของ JEPQ ได้รับการออกแบบในการรักษาเสถียรภาพ NAV ที่สูงกว่ากลยุทธ์ Covered Call แบบ ATM ของ QYLD เพราะแบบ OTM เปิดโอกาสให้จับการเติบโตของราคาได้บางส่วน ความถี่รายสัปดาห์และการบริหารจัดการหุ้นเชิงรุก ก็ช่วยมีส่วนทำให้สร้างรายได้สม่ำเสมอขึ้นและลดการขาดทุน

พูดถึงข้อดีมาเยอะแล้ว เราก็ต้องมาดูอีกด้านนึงด้วยนะ ไม่มีหุ้นหรือกองทุนตัวไหนบนโลก ที่ไม่มีความเสี่ยง… JEPQ ก็เหมือนกัน
ความเสี่ยง:
ตลาดขึ้นแรง: JEPQ จะตาม Nasdaq ไม่ทัน 100% เพราะถูกจำกัดด้วยการขายออปชัน
ตลาดลงแรง: JEPQ ก็ลงอยู่ดี แต่อาจจะลงน้อยกว่า Nasdaq เพราะมีรายได้จากออปชันและส่วน ELNs ช่วยลดแรงกระแทกได้บ้าง
ตลาดนิ่งสนิท (sideway): รายได้จากค่าขายออปชันจะลดลง เพราะคนไม่ค่อยกลัวความผันผวน ก็ไม่ยอมจ่ายค่าประกันแพงๆ
อื่นๆ : ความเสี่ยงด้านคู่สัญญา ELN, ประสิทธิภาพทางภาษีที่อาจเกิดขึ้น, ความเสี่ยงจากการกระจุกตัว และความเสี่ยงจากการบริหารเชิงรุก ซึ่งไม่ว่าจะเล็กหรือน้อยก็ให้ตีเป็นความเสี่ยง ที่อาจจะมีผลต่อ NAV ในอนาคต แม้วันนี้จะยังไม่เกิดขึ้น
ผลงานจริงยังน้อยอยู่: ผมเคยพูดเทียบ O กับ JEPQ ใน LIVE หลายครั้ง จะพูดตลอดว่า O ให้ความรู้สึกปลอดภัยว่า เพื่อนๆสมาชิกช่อง ก็สามารถ Track พอร์ตเกษียณ ของผมได้ จะเห็นว่า ผมยังคงออมหุ้น O อยู่กว่า $30,000 เพราะเราต้องว่ากันตามตรง หุ้น O เขาพิสูจน์ตัวเองมาหลายวิกฤตแล้ว ไม่เคยปรับลดปันผลเลย ส่วน JEPQ ผมก็ค่อนข้างเชื่อมั่นนะ แต่ผลงานตามจริงก็เพิ่งฝ่าวิกฤตหนักได้แค่ครั้งเดียวเนื่องจากเข้าตลาดมาได้ไม่นาน กองนี้อาจจะดีมากๆในอนาคต แต่สิ่งนี้เราก็ต้องถือเป็นความเสี่ยง แม้จะมีกลยุทธ์ป้องกันอย่างไร เราก็ต้องถือเป็นความเสี่ยงอยู่ดีครับ ก็คงพูดตามจริงว่า… ถ้าอยากปลอดภัยไป O แต่ถ้ารับเสี่ยงสูงขึ้นได้ ไป JEPQ
ส่วนจะเกษียณได้หรือไม่ได้? ผมว่าก็ไม่มีใครตอบได้ครับ เราแค่มีความเชื่อมั่นกับความน่าจะเป็นอย่างนั้น… จริงๆก็ไม่ใช่แค่ JEPQ เพราะแม้แต่หุ้น O หรือ หุ้นปันผลที่ว่าเซฟๆ เราก็ต้องรับความเสี่ยงในอนาคตอยู่ดี แต่ขอให้เราเข้าใจที่มาที่ไป แล้วลองคุยกับตัวเองอีกทีว่าเรารับความเสี่ยงนี้ได้หรือไม่? มันมากเกินไป? หรือมันโอเคแล้วสำหรับเราเมื่อเทียบกับตัวอื่น? ถ้าเราเห็นความเสี่ยงที่คิดว่า ตัวเราเกินรับไหว ดูเสี่ยงเกินไป ก็ต้องปรับตามความเสี่ยงที่เราสามารถรับไหวครับ…
ขออภัยที่บทความนี้ยาวมาก จริงๆมันรายละเอียดเยอะกว่านี้มาก แต่อยากจะเขียนแบบให้เพื่อนๆมือใหม่เข้าใจได้ง่ายๆครับ