เจาะลึก RKLB สู่ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอวกาศ?? กับ"Neutron"จรวดเปลี่ยนเกม!!

ถ้าพูดถึงหุ้นอวกาศตัวนึงที่น่าสนใจมากๆ และนักลงทุนหลายคนกำลังจับตามองอยู่ ก็เป็นต้องนึกถึงหุ้น Rocket Lab ซึ่งหุ้นตัวนี้ทำผลงานได้ดีเยี่ยมในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยราคาหุ้นวิ่งขึ้นมากว่า 380%!

ล่าสุด Rocket Lab ก็เพิ่งประกาศผลประกอบการ Q1 ปี 2025 ออกมา ซึ่งก็ถือว่าดีใช้ได้เลย รายได้อยู่ที่ประมาณ $122.6 ล้าน เพิ่มขึ้น +32% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ถ้าเทียบกับไตรมาสที่แล้วก็ลดลงนิดหน่อย ประมาณ -7% ซึ่งทางผู้บริหารก็ได้บอกว่า “ส่วนหนึ่งมาจากราคาการปล่อยจรวด Electron ที่อาจจะถูกลงบ้าง และการเปลี่ยนแปลงในส่วนธุรกิจผลิตดาวเทียม”

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ช่วงนี้บริษัทใช้เงินลงทุนค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเร่งพัฒนาจรวดรุ่นใหม่อย่าง Neutron ซึ่งเป็นจรวดขนาดใหญ่ขึ้น ออกแบบมาให้บรรทุกสัมภาระได้เยอะขึ้น และที่สำคัญคือ สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ด้วย ทำให้ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา (R&D) สูงขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะ Rocket Lab ก็อยากจะให้ Neutron พร้อมทดสอบบินครั้งแรกภายในครึ่งปีหลังของปีนี้แล้ว

แต่ถึงแม้จะมีรายจ่ายเยอะ แต่งานในมือของ Rocket Lab ก็ยังดูดีมากๆ โดยสิ้นไตรมาส 1 มีมูลค่ารวมถึง $1,067 ล้าน โดยเฉพาะงานบริการปล่อยจรวดนี่โตขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน แสดงให้เห็นว่าความต้องการใช้บริการของ Rocket Lab ยังสูงมาก ทั้งจากจรวด Electron, Neutron และ HASTE (จรวดทดสอบความเร็วเหนือเสียง) ส่วนเงินสดในมือก็ยังมีอยู่ประมาณ $517 ล้าน

ที่น่าตื่นเต้นมากๆคือ การขยายตัวของ Rocket Lab ไปยังตลาดใหม่ๆ ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและภูมิศาสตร์ การมาของ Neutron จะเป็นตัวเปลี่ยนเกม!! เพราะจะทำให้ Rocket Lab เข้าไปแข่งขันในตลาดปล่อยดาวเทียมขนาดใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งมักจะมีกำไรสูงกว่า แถมยังได้รับเลือกจากกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ให้เป็นหนึ่งในห้าผู้ให้บริการปล่อยภารกิจสำคัญด้านความมั่นคงแห่งชาติด้วย นี่เป็นสัญญาณที่ดีมากๆ ว่า Neutron เริ่มได้รับการยอมรับแล้ว!

นอกจากนี้ Rocket Lab ยังขยายตลาดไปยุโรปด้วย โดยได้รับเลือกจากกระทรวงกลาโหมของอังกฤษในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีความเร็วเหนือเสียง แถมยังมีแผนจะเข้าซื้อกิจการ Mynaric ซึ่งเป็นบริษัทเยอรมันอีกด้วย อันนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในตลาดยุโรปได้อีกเยอะ

ถ้าพูดถึงจุดแข็งของ Rocket Lab ที่ทำให้บริษัทโดดเด่นในตลาด คือจรวด Electron ที่ใช้ขนส่งดาวเทียมขนาดเล็ก ปัจจุบัน Electron เป็นจรวดเล็กที่ถูกปล่อยบ่อยที่สุดในโลก คาดว่าปีนี้น่าจะเกิน 20 ครั้ง ความสำเร็จและความปลอดภัยในการปล่อย Electron อย่างต่อเนื่องนี่แหละที่ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่น นอกจากนี้ การที่บริษัทพยายามทำทุกอย่างเองครบวงจร ตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้ควบคุมคุณภาพและต้นทุนได้ดีขึ้น ซึ่งในระยะยาว Rocket Lab ก็ตั้งเป้าจะเป็นเจ้าของกลุ่มดาวเทียมเองด้วย

ทีนี้มาถึงเรื่องสำคัญที่นักลงทุนหลายคนน่าจะอยากรู้ คือ แล้วเมื่อไหร่บริษัทจะเริ่มทำกำไร?? หรืออย่างน้อยก็มีกระแสเงินสดอิสระที่เป็นบวก?

ที่การคาดการณ์ว่า Rocket Lab น่าจะไปถึงจุดคุ้มทุน FCF หรือมี FCF เป็นศูนย์ได้ภายในปี 2026 ซึ่งถือว่าเร็วกว่าที่หลายคนคาดไว้พอสมควร

แต่แน่นอนว่าการคาดการณ์นี้ยังอยู่บนสมมติฐานหลายอย่าง เช่น Neutron ต้องทดสอบบินสำเร็จตามแผน และงานใหม่ๆของ Neutron ต้องเข้ามาอย่างต่อเนื่อง การนำ Neutron กลับมาใช้ซ้ำต้องช่วยลดต้นทุนได้จริง และค่าใช้จ่ายในการพัฒนา Neutron จะต้องเริ่มลดลงหลังสิ้นปี 2025 รวมถึงธุรกิจชิ้นส่วนที่ทำกำไรดีก็ยังต้องเติบโตต่อเนื่อง

โดยสรุปแล้ว Rocket Lab ยังมีเส้นทางการเติบโตที่น่าสนใจอีกยาวไกล จากการขยายไปตลาดใหม่ๆ และความได้เปรียบในการแข่งขันที่มีอยู่ ธุรกิจอวกาศโดยรวมยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และ Rocket Lab ก็อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะคว้าโอกาสนี้ การที่ FCF มีแนวโน้มจะเป็นบวกได้เร็วกว่าคาดก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่แน่นอนว่าการลงทุนมีความเสี่ยง พวกเรานักลงทุนก็ต้องคอยติดตามข่าวสาร โดยเฉพาะเรื่องความคืบหน้าของ Neutron การแข่งขันในตลาด และการรักษางานในมือของ Electron อย่างใกล้ชิด

Peter Beck (Rocket Lab CEO)