- ลงทุนหุ้นอเมริกา
- Posts
- 【【 EXCLUSIVE 】】QQQI ราคากองทุนเสี่ยงร่วงเรื่อยๆในระยะยาว!?
【【 EXCLUSIVE 】】QQQI ราคากองทุนเสี่ยงร่วงเรื่อยๆในระยะยาว!?
สวัสดีครับเพื่อนๆนักลงทุน วันนี้ผมอยากแชร์มุมมอง กองทุนปันผลสูงรายเดือนอีกตัว QQQI ที่ผมมีลงทุนไว้บางส่วนที่ "พอร์ตกองทุน ETF" แต่ด้วยที่ศึกษาเพิ่มเติมพร้อมกับถามตัวเองว่า… ผมจำเป็นต้องรับความเสี่ยงสูงขนาดนี้หรือไม่…? โดยมีประเด็นสำคัญก็คือ "ราคาหน่วยกองทุน(NAV) ต้องไม่ลดลงในระยะยาว?" กับ "ประเด็นเรื่องภาษีที่คนไทยลงทุนในไทยต้องกังวล?" ซึ่งคำตอบ QQQI ของผมอยู่ท้ายบทความ
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจ 2 กองทุนนี้กันก่อนครับ…
JEPQ กับ QQQI เป็น 2 กองที่ลงทุนดัชนี Nasdaq-100 ที่ไม่ได้แค่ถือหุ้นรับปันผลเฉยๆ แต่เขาใช้เทคนิคที่เรียกว่า "การขาย Options" (ส่วนใหญ่เป็น Covered Calls) เข้ามาช่วย กองทุนยอมสละโอกาสที่จะได้กำไรแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าหุ้นที่ถืออยู่ราคาพุ่งขึ้นไปเยอะๆ แลกกับการได้เงิน "ค่าพรีเมียม" เข้ามาแน่ๆ เพื่อที่จะนำเงินมาจ่ายเป็นปันผลรายเดือนให้กับผู้ลงทุน นี่คือหัวใจสำคัญของกองทุนประเภทนี้ครับ
ผมขอแบ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนคนไทย-อเมริกันควรทราบ และ นักลงทุนคนไทยลงทุนในไทย แต่ถ้าอ่านไปทั้งหมดได้ เราจะได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นครับ
ข้องใจเรื่อง "Return of Capital" (ROC) มันคืออะไรกันแน่?
ROC หรือ การคืนเงินทุน ปกติเวลาเราลงทุนในกองทุนแล้วได้เงินกลับมา มันควรจะเป็นในรูปแบบ "เงินปันผลจากหุ้น" หรือ "กำไรจากการขายหุ้นที่กองทุนทำได้" ใช่มั๊ยครับ? ซึ่งเงินพวกนี้ เราต้องเอาไปเสียภาษีในปีที่เราได้รับ
แต่ถ้าเกิดว่า... เงินที่กองทุนจ่ายให้เราในรอบนั้นๆ มันดัน "เยอะกว่า" กำไรและรายได้ที่กองทุนทำได้จริง ส่วนที่จ่ายเกินมานั่นแหละครับ เรียกว่า Return of Capital (ROC)
มันก็เหมือนกับว่า กองทุนกำลัง "คืนเงินต้น" หรือ เงินลงทุนเริ่มต้นของเราคืนมาให้บางส่วน
ROC มันดี หรือไม่ดี?
นักลงทุนคนไทย-อเมริกัน
ผลกระทบทางภาษี: ข้อดีอย่างหนึ่งของ ROC คือ เงินส่วนนี้ที่เราได้รับมา ยังไม่ต้องเสียภาษีทันทีในปีนั้น แต่มันจะถูกนำไป "ลดต้นทุน" (Cost Basis) ของกองทุนที่เราถืออยู่แทน
ตัวอย่าง: สมมติเราซื้อ QQQI มาหน่วยละ $50 แล้วปีนั้นเราได้รับเงินที่เป็น ROC หน่วยละ $2 ต้นทุนใหม่ของเราทางบัญชีจะเหลือแค่ $48 ($50 - $2) เหมือนเราซื้อกองทุนมาในราคาถูกลง
แต่! ผลกระทบจะตามมาตอนที่เรา ขาย กองทุนครับ เพราะต้นทุนเราต่ำลง กำไรทางบัญชีตอนขายมันก็จะดูสูงขึ้น หรือถ้าขาดทุน ก็จะขาดทุนน้อยลง ทำให้เราอาจจะต้องเสียภาษีกำไร (Capital Gain Tax) มากขึ้นในปีที่ขายนั่นเอง ถ้าใครงงๆ ก็พูดง่ายๆว่า ROC เป็นแค่ "การเลื่อนการเสียภาษี" ออกไปจ่ายในอนาคตครับ
ROC คือ กลยุทธ์: QQQI ตั้งใจทำให้การจ่ายเงินคืนมีส่วนที่เป็น ROC เพราะ…
รายได้จากค่าพรีเมียม Options มันเยอะมาก แต่ตามกฎภาษีอาจจะยังไม่ถูกนับเป็นรายได้หรือกำไรทันที กองทุนก็เลยจ่ายเงินสดที่มีอยู่ออกมาให้เราก่อนในรูปแบบ ROC
กองทุนต้องจ่ายเงินให้เราในทุกเดือน แต่บางเดือนอาจจะต้องจ่ายเกินกำไรทางภาษีในบางช่วงไปบ้าง
เป็น "กลยุทธ์ทางภาษี" เพื่อให้นักลงทุนอเมริกันได้ประโยชน์จากการเลื่อนภาษีออกไปก่อน ซึ่งกองทุน QQQI ประกาศชัดเจนเลยว่า ROC เป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางภาษีให้ผู้ลงทุนครับ
แล้วนักลงทุนคนไทย ลงทุนในโบรกเกอร์ของไทย ต้องกังวลหรือไม่?
สำหรับกรณีนี้ "การเลื่อนภาษี" ของ ROC อาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักเหมือนนักลงทุนอเมริกันครับ แต่ ROC ยังคงเป็น "ตัวชี้วัดสำคัญ" ที่บอกเราว่า กองทุนอาจกำลังจ่ายเงินคืนเกินกว่าผลประกอบการที่แท้จริงหรือเปล่า ซึ่งมันกระทบโดยตรงกับเป้าหมายหลักของเราที่ไม่ต้องการให้เงินต้นค่อยๆลดลงในระยะยาว
ต่อให้เรื่องการเสียภาษี ROC ของเราจะแตกต่างจากคนอเมริกันยังไงก็ตาม แต่ถ้ากองทุนไหน จ่าย ROC เยอะมากๆ สูงซะจน มันเกินกว่า "ผลตอบแทนรวม" (Total Return) ที่กองทุนทำได้จริงๆ NAV มันก็จะลดลงอยู่ดีครับ! มันก็คือการ "กินทุน" ที่เรากลัวกันนั่นแหละครับ
ROC ของ JPEQ และ QQQI เป็นยังไง?
ว่ากันที่ตัวแรก JEPQ
(( รู้จัก JPEQ แบบเจาะลึก Link ))
ด้านกลยุทธ์:
คัดเลือกหุ้น: ผู้จัดการกองทุนจะเลือกหุ้นเด่นๆเข้าพอร์ตเองด้วยโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นที่เป็นระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นกรรมสิทธิ์ของทาง JPMorgan (ธนาคารอันดับ 1 ขอสหรัฐฯ)
ขาย Call Options: เพื่อเก็บค่าพรีเมียม สร้างรายได้เพิ่ม ผสานเครื่องมือที่เรียกว่า Equity-Linked Notes (ELNs)
เป้าหมาย: ผู้ลงทุนจะได้ "เงินปันผลรายเดือน" ควบคู่ไปกับ "เงินต้นเติบโตได้บ้าง" และ "ความผันผวนจะน้อยกว่า" การลงทุนในกองดัชนี Nasdaq-100 โดยตรง
รายได้มาจากไหน: 1) เงินปันผลที่ได้จากหุ้นที่ถืออยู่ 2) ค่าพรีเมียมจากการขาย Options
ROC: หนังสือชี้ชวนของทาง JEPQ ไม่ได้เน้น หรือชูเรื่อง ROC เป็นจุดขายหลัก แต่พูดถึงการสร้างรายได้ 2 ข้อด้านบน ซึ่งเราต้องเสียภาษีแบบรายได้ธรรมดา มากกว่าที่จะเป็นกลยุทธ์คืนเงินต้น ROC
จากที่ผมไปค้นๆ ดูเอกสารมา ยังไม่เจอหลักฐานชัดๆ ว่า เงินที่ JEPQ จ่ายให้เราเป็นเงินสดทุกเดือนเนี่ย มีส่วนที่เป็น ROC เยอะๆ หรือจ่ายเป็นประจำ เพราะข้อสังเกตุกองทุนที่จ่าย ROC เยอะๆ ปกติเค้าต้องมีเอกสารแจ้งเรา (เช่น เอกสาร Section 19a) ซึ่งผมหาของ JEPQ ไม่เจอที่ระบุเรื่องนี้โดยตรง ก็เลยคาดว่าน่าจะไม่เน้น ROC เลย
เทียบกับ QQQI
กลยุทธ์ & เป้าหมาย: มีเป้าหมายชัดเจนมากว่า ต้องการสร้าง "รายได้ต่อเดือนที่สูง" พร้อมกับ "มีประสิทธิภาพทางภาษี!" โดยเน้นไปที่ Options แบบเต็มตัวและซับซ้อนกว่า JEPQ คือมีการ ทั้ง "ซื้อและขาย" Options ที่อ้างอิงกับดัชนี Nasdaq-100
จุดเด่น:
เขาบอกว่ากลยุทธ์ Options แบบนี้ อาจจะช่วยให้กองทุนได้ประโยชน์ตอนตลาดขาขึ้น (Upside Capture) ได้ดีกว่าการขาย Covered Call อย่างเดียวในบางสภาวะตลาด
เน้นเรื่องภาษีมากๆ (สำหรับคนอเมริกัน) ชูว่าถ้าต้องลงทุนกับเขา ก็จะได้ประโยชน์จากกฎภาษีพิเศษที่เรียกว่า Section 1256 ซึ่งใช้กับ Options อ้างอิงดัชนีอย่าง NDX กฎนี้ดีตรงที่ กำไรที่ได้ 60% จะถือเป็นกำไรระยะยาว และอีก 40% เป็นกำไรระยะสั้น โดย ไม่สนใจเลยว่ากองทุนจะถือ Options นั้นมานานแค่ไหน (ปกติกำไรระยะยาวจะได้อัตราภาษีที่ดีกว่า) และเขาก็พยายามบริหารจัดการขาดทุน (Tax-Loss Harvesting) เพื่อช่วยให้การจ่ายเงินคืนออกมาในรูป ROC มากขึ้นด้วย
รายได้มาจากไหน: มาจากกลยุทธ์ Options เป็นหลักเลยครับ (ค่าพรีเมียมสุทธิ, กำไรขาดทุนจากสถานะ Options) บทบาทของเงินปันผลจากหุ้นโดยตรงจะน้อยกว่า JEPQ
ROC: กองทุนนี้ ประกาศชัดเจนและยอมรับเลย ว่า การจ่ายเงิน ประกอบด้วย ROC เป็นส่วนสำคัญ และเป็นสิ่งที่ ตั้งใจ ให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ทางภาษีของผู้ลงทุน
ผมคิดว่าอีกสิ่งสำคัญก็คือ ผลตอบแทนรวม
ผลตอบแทนรวม = (การเปลี่ยนแปลงของมูลค่า NAV ต่อหน่วย) + (เงินทั้งหมดที่กองทุนจ่ายต่อหน่วย)
ถ้า ผลตอบแทนรวม ≥ อัตราเงินที่จ่ายคืน: ถ้าแบบนี้ก็ พอรับได้ (แต่อาจจะสำหรับบางคน) เพราะถึงแม้การจ่ายเงินคืนนั้นจะมี ROC ปนอยู่ด้วย แต่โดยรวมแล้ว กองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนรวมให้เราได้ และมีกระแสเงินสดเข้ามาในแต่ละเดือน
ถ้า ผลตอบแทนรวม < อัตราเงินที่จ่ายคืน: อันนี้ น่าเป็นห่วง! มันแปลว่ากองทุนกำลัง "กินทุน" ตัวเอง คือเอาเงินต้นมาจ่ายคืนให้เราเรื่อยๆ เพื่อรักษาระดับการจ่ายเงินปันผลที่สูงไว้ ผลก็คือ มูลค่า NAV ของกองทุนจะค่อยๆ ลดลงในระยะยาว แบบนี้ไม่ยั่งยืนครับ! และไม่เอา!!
แต่ปัญหาคือ… ทั้ง 2 กองทุนนี้ ประวัติและผลงาน ที่ยังดูน้อยซะเหลือเกิน! โดยเฉพาะ QQQI ดังนั้นเราไม่สามารถวางใจได้เลยว่าระยะยาว NAV จะไม่ลดลง? ต้องถือเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องแบกไว้
JEPQ vs QQQI ใครดูน่าไว้ใจกว่ากัน?
ความเสี่ยงที่มีเหมือกัน:
ตลาดหุ้นตก: ยังไงก็กระทบ และราคาร่วงทั้งคู่ เพราะต่างก็ลงทุนใน Nasdaq-100
ความเสี่ยงกลยุทธ์: จะไม่ได้กำไรตอนตลาดขึ้นแรงๆ รายได้จากค่าพรีเมียมก็ไม่แน่นอน กลยุทธ์ซับซ้อนก็อาจมีความเสี่ยงเฉพาะตัว
NAV ลดลง: ถ้าจ่ายเยอะเกินตัว หาเงินมาโปะไม่ทัน เงินต้นเราก็จะลดลง เชื่อมโยงกับ ROC
ฝีมือผู้จัดการกองทุน: ทั้งคู่เป็นกอง Active Manged ดังนั้นผลงานขึ้นอยู่กับความเก่งของทีมบริหารด้วย
ความแตกต่างที่ไม่เหมือนกัน:
JEPQ: โดยส่วนตัว ผมคิดว่า JEPQ ดูมีความเสี่ยงเรื่อง NAV ลดลงในระยะยาวน้อยกว่า เพราะกองนี้มีเป้าหมายจาก ผู้บริหารกองทุนว่า จะพยายามให้เงินต้นมีโอกาสเติบโต ดังนั้นกลยุทธ์เขาเลยมีการผสมผสานระหว่างการถือหุ้นจริงกับการขาย Options ช่วยรองรับแรงกระแทกได้ดีกว่าการเน้น Options เพียวๆ ก็เลยดูน่าจะมี ความสมดุลมากกว่า ในการสร้างรายได้, โอกาสเติบโตของเงินต้น, และระดับความเสี่ยงที่อยู่ในเกณฑ์ที่พอจะรับไหว
QQQI: ดูมีความเสี่ยงเฉพาะตัวสูงกว่าจากกลยุทธ์และเป้าหมาย ที่มี ROC ในสัดส่วนที่สูงมาก แม้จะดีเรื่องภาษีระยะสั้น แต่มันก็ เพิ่มความเสี่ยงที่ NAV จะลดลงได้ง่ายกว่าไปด้วย เพราะถ้ากลยุทธ์ Options เกิดทำผลงานได้ไม่ดีพอในสภาวะตลาดนึง ที่พอจะครอบคลุมการจ่ายเงินปันผลในระดับสูงขนาดนั้นแบบต่อเนื่องยาวๆ นักลงทุนก็อาจจะได้รับผลกระทบได้ น่าจะเหมาะกับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้ และต้องการรับเงินปันผลรายเดือนที่มากกว่า JEPQ แต่… QQQI ก็มีค่าธรรมเนียมแพงกว่า JEPQ เท่าตัวนะ
ผมอยากให้เพื่อนๆลองพิจารณา คิดถึงมุมแย่ที่สุดด้วยว่า ถ้าเกิดวิกฤตหนักขึ้นมาจริงๆ หรือ Recession ตลาดซึมยาวหลายๆเดือน หรือเป็นปี กองทุนเหล่านี้จะเจออะไรบ้าง?
JEPQ
JEPQ ถือหุ้นเทคฯเยอะ ราคาหน่วยลงทุน หรือ NAV ของ JEPQ ก็น่าจะร่วงหนักตามตลาดครับ ถึงเขาจะบอกว่าใช้ Options ช่วยลดความผันผวน แต่ผมว่าตอนวิกฤตจริงๆ มันคงช่วยได้ไม่มากเท่าไหร่ ก็ยังขาดทุนอยู่ดี
ตอนตลาดผันผวนสูงๆ อาจจะขาย Options ได้ราคาดีขึ้นก็จริง แต่ถ้าหุ้นมันตกไปเรื่อยๆ การขาย Options ให้ได้เงินดีๆ โดยไม่เสี่ยงเกินไปก็จะยากขึ้นมาก ต้องใช้ความสามารถของผู้จัดการกองทุนเลยครับ ที่เขาเน้นกว่าจะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์
QQQI
เรื่อง NAV ร่วงจะคล้ายกัน เพราะลงทุนในหุ้นกลุ่มเดียวกัน แต่ QQQI มีความซับซ้อนกว่าตรงที่เขาใช้ Options ทั้งซื้อทั้งขาย ทีมผู้จัดการกองทุนต้องเก่งมากๆ ที่จะป้องกันความเสี่ยงหรือทำกำไรจากความผันผวนได้ แต่ถ้าพลาดขึ้นมา ก็อาจจะขาดทุนหนักกว่า JEPQ ได้เหมือนกัน ถือเป็นความเสี่ยงจากฝีมือผู้จัดการกองทุนเพิ่มเข้ามา ซึ่งไม่ได้ให้รายละเอียดเรื่องการใช้เครื่องไม้เครื่องมือช่วย หรือข้อมูลผู้บริหารกองทุนแบบละเอียดเหมือน JEPQ ที่มีทั้งเครื่องมือระดับ JPM และ ทีมผู้บริหารประสบการณ์กว่า 20-30 ปี
QQQI พึ่งรายได้จาก Options เกือบทั้งหมด ตอนตลาดผันผวนสูงอาจจะดีตามทฤษฎี แต่การบริหาร Options ที่มันซับซ้อนมากๆเพื่อให้ได้กำไรสูงๆตลอดเวลาในขณะที่ตลาดกำลังดิ่งยาวๆ ผมว่ามันก็ ยากมาก เหมือนกันนะ ดังนั้นโอกาสขาดทุนจาก Options ก็น่าจะมีสูงขึ้นด้วย
ปกติ QQQI ก็มีการคืนเงินต้น ROC เยอะอยู่แล้ว ถ้าเกิดวิกฤตหนักแล้วยังพยายามจ่ายเท่าเดิม ก็อาจจะกลายเป็นการกินทุนของเราก็ได้
ทั้งนี้ ทั้งนั้น มันก็กลับเข้าไปสู่ต้นบทความที่ว่า … ก็เพราะว่า 2 กองทุนนี้ มันประวัติในการฝ่าวิกฤตที่น้อยเกินไป เราเลยไม่สามารถประเมินความเสี่ยงในสถานะการณ์ที่แย่มากๆได้เลย JEPQ พอจะฝ่าให้เห็นได้บ้าง แต่ก็แค่ครั้งเดียว น้อยเกินไป มันไม่เพียงพอที่จะเอาทั้งใจไปลงเหมือนหุ้น O ที่ฝ่าหลายวิกฤต รวมถึง Recession ให้พวกเราดูแล้ว ยิ่ง QQQI นี่ไม่ต้องพูดถึงเลย เพิ่งเข้ามาไม่นาน
แล้ว JPEQ เขาก็บอกว่าพยายามจะให้เงินต้นเราเติบโต แต่ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าเจอหนักจริงๆแล้วจะรอดหรือไม่? ก็เพราะว่าด้วยการพึ่งพากลยุทธ์ ไม่ใช่พื้นฐานหุ้นเหมือนหุ้นรายตัว
สิ่งที่อยากแนะนำเพื่อนๆ:
คุยกับตัวเองก่อน: ถามตัวเองชัดๆว่าเป้าหมายการลงทุนคืออะไร? อยากได้แค่เงินสดใช้รายเดือนเยอะๆ หรืออยากให้เงินต้นโตด้วย? รับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน? สถานะทางภาษีของเราเป็นยังไง? เรื่องภาษีสำคัญกับเราแค่ไหน? ผลรวมกำไรแต่เงินต้นลดลงเราโอเค?
เข้าใจผลกระทบของ ROC: QQQI เขาไม่ใช่กองทุนที่แย่ แต่เขาเกิดมาเพื่อเป้าหมายผลประโยชน์การเลื่อนภาษี แต่มันอาจจะกระทบ NAV หรือไม่ในระยะยาว ยังไม่มีใครตอบได้ นี่คือความเสี่ยง!
การเลือกระหว่าง JEPQ กับ QQQI มันไม่มีคำตอบที่ถูกที่สุดสำหรับทุกคนจริงๆครับ มันขึ้นอยู่กับว่าเราให้ความสำคัญกับอะไร? และเรารับความเสี่ยงได้แค่ไหน?
อยากเพื่อนๆคิดให้ดีๆ ต้องคิดทั้งมุมดี-มุมแย่ เพราะต้องอย่าลืมว่า เราจะได้ปันผลเยอะ ก็ต่อเมื่อเรานำเงินไปลงเยอะ แล้วถ้าเงินที่เรานำไปลงทุนมันมีความเสี่ยงที่เราอาจจะรับไม่ไหว อนาคตมันจะเป็นผลดีหรือผลเสียกับเรากันแน่? ต้องลองพิจารณาให้ถี่ถ้วน
ส่วนผม… ตัดสินใจขอออกจาก QQQI ในพอร์ตกองทุน ETF ครับ เพราะคิดว่าผมไม่จำเป็นต้องรับความเสี่ยงขนาดนั้น และผมก็ไม่ได้ต้องการ ROC ด้วยเช่นกัน แม้อนาคต QQQI อาจจะเป็นกองที่ดีมากๆ ขึ้นยาวๆ แต่ผมขอเลือกจำกัดความเสี่ยงให้ตัวเอง!